ปัญหาการฉีดยาคุมกำเนิดในสุนัขและแมว

 

เมื่อสุนัขและแมว อยู่ในช่วงอาการติดสัดมักจะสร้างความวุ่นวายใจให้กับเจ้าของไม่น้อย หลาย ๆ คนคงยังตัดสินใจพาสัตว์เลี้ยงไปทำหมันและหลายคนก็ยังต้องการแค่ฉีดยาคมกำเนิด

จากกระแสที่เกิดขึ้นมากมายในสังคม เมื่อสัตว์เกิดอาการมดลูกอักเสบ (pyometra) สืบเนื่องมาจากการฉีดยาคุมกำเนิดนั้นทำให้หลาย ๆ หน่วยงาน หันมารณรงค์ ห้ามฉีดยาคุมกำเนิดให้กับสัตว์เลี้ยง และหันมาใช้วิธีการผ่านตัดทำหมันแทน

 

การฉีดยาคุมกำเนิด โดยใช้ฮอร์โมนในแมวและสุนัขนั้น นอกจากจะก่อให้เกิดอันตรายกับตัวสัตว์ที่ได้รับการฉีดโดยตรงแล้ว ยังอาจส่งผลต่อเนื่องอีกหลายอย่างที่คิดไม่ถึง

ฮอร์โมนคุมกำเนิด ที่ใช้ในสุนัขและแมว มีหลากหลาย ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบ โพรเจสโตเจน หรือ โพรเจสติน (progestogens or progestins; PGs) ซึ่งเป็นสารสังเคาะห์ (synthetic analogues) ของ progesterone เช่น medroxyprogesterone acetate (MPA-Depoâ), megestrol acetate (MA), proligestone (PR-Covinan), chlormadinone acetate (CMA), delmadinone acetate (DMA), norethisterone acetate (NTA) และ melengestrol acetate (MGA) 

ใช้มากในการควบคุมการเป็นสัดของในสัตว์หลาย ๆ ชนิด เช่น ในสุนัขและแมว โดยขึ้นอยู่ช่วงที่ใช้

1.ใช้คุมกำเนิดแบบชั่วคราว (เริ่มใช้ในช่วงก่อนการเกิดระยะ proestrus หรือก่อนเป็นสัดระยะแรก)

2.ใช้คุมกำเนิดแบบระยะเวลานาน (เริ่มในช่วง anestrus คือช่วงที่ไม่เป็นสัด )

3.ใช้เลื่อนการเป็นสัดออกไป หรือใช้เพื่อกดการเป็นสัด (เริ่มใช้เมื่อเริ่มเป็นสัดไปแล้วในระยะต้น - ใช้ได้บางชนิดเท่านั้น)

ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไปหยุดการสร้าง การหลั่งของฮอร์โมนปกติจากสมอง โดยแต่ละตัวก็จะมีผลต่อระบบสืบพันธุ์และระบบฮอร์โมนต่าง กัน เช่น

- เกิดถุงน้ำที่รังไข่

- เกิดพัฒนาตัวอ่อนผิดปกติ คลอดยาก ลูกตายในท้อง หรือกลายเป็นเนื้องอก

- ลดการสร้างหรือเพิ่มการหลั่งของฮอร์โมนบางชนิด เกี่ยวเนื่องกับภาวะเบาหวาน

- แม่สัตว์บางตัวเป็นมดลูกอักเสบ

เมื่อถูกยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนจากสมอง ทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลและทำให้เกิดผลข้างเคียง อาจมีผลต่อพฤติกรรม เช่น

หากใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง เนื่องจากมีการกดการทำงานของไขกระดูกได้

         ผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้ยาชนิดนี้สามารถป้องกันได้ ถ้ามีการใช้ในขนาดที่ถูกต้องและไม่ใช้ติดต่อนานจนเกิดไป การเลือกใช้ในสัตว์แต่ละตัวควรคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ คือ

1. ต้องรู้วงรอบการเป็นสัดของสุนัขและแมวอย่างชัดเจน โดยสัตวแพทย์ต้องทำการตรวจทุกครั้งก่อนคิดให้ฮอร์โมนคุมกำเนิด

2. อย่าเลือกผลิตภัณฑ์ในรูปแบบที่ออกฤทธิ์ได้นาน ในการเป็นสัดครั้งแรกในแมว เพราะจะทำให้เกิดการกระต้นการขยายของเซลล์เต้านมอย่างยาวนานได้

3. ห้ามใช้ในสัตว์ที่ตั้งท้องอยู่ เนื่องจากอาจทำให้เกิดความผิดปกติในการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ หรืออาจทำให้เกิดการคลอดช้ากว่ากำหนด เกิดการตายของตัวอ่อนได้

4. ห้ามใช้ในสุนัขที่มีการเกิดเลือดออกจากมดลูก ห้ามใช้ในสัตว์ที่เกิดการเป็นสัดยาวนาน เนื่องจากอาจเกิดความผิดปกติ คือ ถุงน้ำ หรือเนื้องอกรังไข่

5.  ห้ามใช้ในสัตว์ป่วยโรคเบาหวาน ควรทำการตรวจสอบค่าระดับน้ำตาลในเลือด blood glucose ในรายที่มีการให้ยามาเป็นเวลานานเพื่อตรวจสอบ glucose metabolism เสมอ 

เจ้าของสัตว์หรือสัตวแพทย์สมัยใหม่ จะไม่นิยมฉีดยาคุมกำเนิดนี้แล้ว เพราะผลดีมีไม่มากเท่าผลเสีย ถ้าจำเป็นต้องฉีดจะต้องซักประวัติและตรวจร่างกายสัตว์อย่างละเอียดและไม่ทำการฉีดซ้ำหลายหน ...แต่ถ้าหลีกเลี่ยงได้จะดีที่สุด...หยุด การฉีดยาคุม แล้วแนะนำให้เจ้าของทำหมันถาวรในสัตว์เลี้ยงกันเถอะค่ะ


การคุมกำเนิดที่เหมาะสม ควรทำอย่างไร

ในทางปฏิบัติมีวิธีการคุมกำเนิดในสุนัขและแมว 2 วิธี ดังนี้

1.การผ่าตัดทำหมัน

วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการคุมกำเนิดสัตว์ เพราะการผ่าตัดทำหมัน นอกจากจะช่วยลดประชากรสัตว์ได้อย่างแน่นอนแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะมดลูกอักเสบ และเนื้องอกเต้านมในสัตว์อีกด้วย ซึ่งทั้งสองภาวะนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ในเมื่อสัตว์มีอายุมากขึ้นอยู่แล้ว การผ่าตัดทำหมัน จะช่วยให้สัตว์มีชีวิตยืนยาว สามารถอยู่กับ เจ้าของได้นานมากขึ้น หลายคนเชื่อว่าการผ่าตัดทำหมันเป็นการทรมานสัตว์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การผ่าตัดทำหมัน อยู่ใน ความควบคุมของสัตวแพทย์ ซึ่งมีการวางยาสลบ ทำให้สัตว์ไม่รู้สึกเจ็บปวด และเมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วก็จะมีการให้ยา ปฏิชีวนะ และยาบรรเทาปวด อาจจะมีเจ็บแผลบ้างเล็กน้อย แต่ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด หลังจากผ่าตัดทำหมันแล้ว ฮอร์โมนเพศของสัตว์จะลดลง ทำให้การเผาผลาญลดลง จึงเป็นสาเหตุให้สัตว์อ้วนได้ ดังที่พบเห็นกันได้ทั่วไป แต่หากหลังผ่าตัดทำหมัน มีการควบคุมปริมาณพลังงานในอาหารให้ลดลง 30% และมีการออกกำลังกายที่เหมาะสม ก็จะทำให้สัตว์ไม่อ้วน

2.การแยกสัตว์เลี้ยงเพศผู้และเพศเมีย ในช่วงที่สัตว์เพศเมียแสดงอาการเป็นสัด

        2.1 สุนัขเพศเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เริ่มเป็นสัดครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 7-12 เดือน การเป็นสัดของ สุนัขจะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของตัวสุนัข ถ้าน้ำหนักของสุนัขเป็นไปตามเกณฑ์ในช่วงอายุที่เหมาะสมกับสายพันธุ์ สุนัขก็จะเป็นสัดเร็ว ถ้าน้ำหนักสุนัขต่ำกว่าเกณฑ์ สุนัขก็จะเป็นสัดช้า สุนัขพันธุ์เล็กจะแสดงอาการเป็นสัดเร็ว กว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่ และสุนัขเพศเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้เร็วกว่าสุนัขเพศผู้ในสายพันธุ์เดียวกันที่มีอายุใกล้เคียงกัน และสุนัขจะไม่มีระยะหมดการเป็นสัดโดยจะแสดงการเป็นสัดได้ตลอดชีวิต แต่ประสิทธิภาพการผสมติดกับจำนวนลูก ต่อครอกจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น

สุนัขจะแสดงการเป็นสัดโดยเฉลี่ยปีละ 2 ครั้ง ช่วงห่างของวงรอบการเป็นสัดประมาณ 3-10 เดือน เมื่อสุนัขเพศเมียเป็นสัด อาการแรกเริ่มที่พบคือ อวัยวะเพศบวม และมีสิ่งคัดหลั่งเป็นเลือดออกมาจากช่องคลอด ระยะนี้ สุนัขเพศเมียจะยังไม่ยอมให้สุนัขเพศผู้ผสมพันธุ์ เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 9 วัน เลือดที่ออกมาจากช่องคลอดจะ ลดลง และช่วงนี้สุนัขเพศเมียจะเริ่มสนใจตัวผู้ และยอมรับการผสม

 

2.2 แมวเพศเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เริ่มติดสัดได้ตั้งแต่อายุประมาณ 4-5 เดือนขึ้นไป   แต่ต้องขึ้นอยู่กับฤดูผสมพันธุ์ของแมวด้วย  เนื่องจาก แมวเป็นสัตว์ที่ผสมตามฤดู (ไม่ได้มีวงรอบทุก ๆ เดือนเหมือนในคน)  ฤดูผสมพันธุ์ของแมวจะเป็นช่วงที่กลางวันยาวนานกว่ากลางคืน (ฤดูร้อน)  แต่ในประเทศไทยที่ไม่ค่อยมีความแตกต่างเรื่องช่วงแสงกลางวันและกลางคืน  ทำให้ฤดูผสมพันธุ์ของแมวไม่ชัดเจน อาจจะผสมได้ทั้งปี อาการติดสัดแล้วแต่แมวแต่ล่ะตัวจะแสดงออก หลัก ๆ ที่พบได้คือ

       - ร้องโวยวายผิดปกติ

       - นอนกลิ้งไปกลิ้งมา 

       -  เข้ามาคลอเคลียมากกว่าปกติ จับบริเวณก้นแล้วมักโก่งก้นขึ้น และเบี่ยงหางออกด้านข้าง เพื่อเปิดทางช่องคลอดเพื่อเตรียมรับการผสม 

       -  แมวบางตัวอาจพบอาการอวัยวะเพศบวมโต กว่าปกติเล็กน้อย หรืออาจมีเมือกใส ๆ ให้เห็น *แต่จะไม่มีเลือดออกมาจากช่องคลอดเหมือนในสุนัข

ดังนั้น ในช่วงเวลานี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ เจ้าของสัตว์ต้องให้ความใส่ใจดูแล และแยกสัตว์เพศผู้และเพศเมียออกจากกันอย่างเด็ดขาด อาจใช้วิธีขังกรง (ควรใช้กรงตาถี่ ๆ เพราะหากเป็นกรงตาห่าง ๆ พบว่าสัตว์ตัวผู้ก็ยังสามารถเข้ามาผสมพันธุ์ได้ ) หรือเลี้ยงอยู่ในบ้านที่เป็น ระบบปิด ปิดทางเข้าออกทุกทาง ป้องกันไม่ให้สัตว์ตัวผู้เข้ามาได้

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การคุมกำเนิดในสัตว์นั้นมีหลากหลายวิธี แต่ละวิธีก็มีข้อจำกัดมากมายแตกต่างกัน แต่วิธีที่ดีที่สุด สามารถช่วยลดความยุ่งยากในการควบคุมสัตว์ในแต่ละครั้ง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรง อื่น ๆ และลดปัญหาอื่น ๆ ไปได้อย่างถาวรก็คือวิธีการผ่าตัดทำหมัน จึงสมควรที่ประชาชนทั่วไปควรมีความรู้ความ เข้าใจในเรื่องการคุมกำเนิดสัตว์ และการผ่าตัดทำหมันในสัตว์ให้มากขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดี และชีวิตที่ยืนยาวของสัตว์ต่อไป


ที่มา: 

http://vrd-sn.dld.go.th/webnew/images/stories/service/Brochure/year59/Y13No50.pdf
https://www.osdco.net/communities/knowledge/468/dog-birth-control
https://www.sentangsedtee.com/career-channel/article_29042

Share this entry